Geschichte

Geschichte über die thailändische Massage

ประวัติการนวดแผนไทย
โดย อ.ธันณัช ชโพเลอร์
– กรเวชศูนย์พัฒนาการแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย
– ณัชวีย์นวดไทยเพื่อสุขภาพ&โชคิเวลเน็ตแคร์ พัทยา
– เอญ่านวดไทย & โชคิเวลเน็ต (เฟียร์นไฮม์ เยอรมันนี)

การนวดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่มีมาช้านาน การนวดเป็นการรักษาโรควิธีหนึ่งซึ่งมีผลทางการรักษาโรคบางโรคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะโรคที่ไม่สามารถบำบัดได้ด้วยการใช้ยาฉีดหรือยากิน ดังนั้นการนวดจึงมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาโรค

นวดแผนไทย หรือเดิมเรียกว่า นวดแผนโบราณ มีที่มาอย่างไร จากการสันนิษฐาน เชื่อว่า การนวดมีจุดเริ่มต้นมาจากการช่วยเหลือกันเองภายในครอบครัว เช่น สามีนวดให้ภรรยา ภรรยานวดให้สามี ลูกหลานนวดให้ผู้ใหญ่ หรือปู่ย่าตายาย มีการใช้อวัยวะต่าง ๆ เช่น ศอก เข่า มือ เท้า เป็นต้น ในการนวด ต่อมามีการพัฒนาใช้อุปกรณ์ในการนวดเพื่อช่วยให้ใช้น้ำหนักได้มากขึ้น เช่น นมสาว ไม้กดท้อง เป็นต้น จากการนวดกันเองภายในครอบครัวจนเกิดความชำนาญและมั่นใจ จึงได้มีการนวดช่วยเหลือความเจ็บป่วยของเพื่อนบ้าน จนได้รับความนิยมและเชื่อถือจากผู้มารับบริการ จนเกิดอาชีพหมอนวดในที่สุด

ประวัติความเป็นมาของนวดแผนไทยที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดคือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ขุดพบที่วัดป่ามะม่วง รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีรอยจารึกเป็นรูปการรักษาโดยการนวด ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปี พ.ศ. ๑๙๙๘ มีการจัดทำเนียบศักดินาของหมอหลวงและหมอนวดในทำเนียบตำแหน่งและศักดินาของข้าราชการพลเรือน กล่าวไว้ในหนังสือกฎหมายตราสามดวงเล่ม ๑ ว่า “หลวงราชรักษา เจ้ากรมหมอนวดขวา และหลวงราโช เจ้ากรมหมอนวดซ้าย นาดล ๑,๖๐๐ ไร่ ขุนภักดีและขุนองครักษา ปลัดกรมขวาและซ้าย นาดล ๘๐๐ ไร่” ในสมัยพระนารายณ์มหาราช เริ่มมีการนวดแผนไทยแบบผสมผสานกับการแพทย์แบบอื่น ๆ การนวดในสมัยนี้มีบทบาทสำคัญในการบำบัดรักษาโรค จะเห็นได้จากบันทึกของลาลูแบร์ ที่บันทึกไว้ว่า “ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำเส้นสายยืดโดยให้ผู้ชำนาญในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักใช้เด็กเหยียบ เพื่อให้คลอดง่าย ไม่เจ็บปวดมาก”
ต่อในในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การแพทย์แผนไทยสืบทอดรูปแบบต่อจากสมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงให้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนและประดิษฐานไว้ในวัด ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้หล่อรูปฤๅษีดัดตนทั้งหมด ๘๐ ท่า และยังได้จารึกสรรพวิชาการนวดไทยลงบนแผ่นหินอ่อน ๖๐ ภาพ แสดงถึงจุดนวดอย่างละเอียดประดับบนผนังศาลารายและบนเสาภายในวัด

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งกรมหมอต่าง ๆ เช่น กรมยา กรมหมอตา กรมกุมาร และกรมหมอฝรั่งขึ้นในพระบรมราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หมอนวดและหมอยาถวายการรักษาความเจ็บป่วยยามทรงประชวร แม้เสด็จประพาสแห่งใดจะต้องมีหมอนวดถวายงานทุกครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โปรดเกล้าฯให้จัดทำตำราการนวด เรียกว่า “ตำราแบบนวดฉบับหลวง” ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงยกเลิกการสอนวิชาการแพทย์ไทย และในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะ สมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงตรากฎหมายแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็น “แผนปัจจุบัน” และ “แผนโบราณ”

การแพทย์แผนไทยและนวดแผนไทยได้มีการเรียนรู้ ถ่ายทอด และนิยมอย่างต่อเนื่อง ได้รับการฟื้นฟูมากขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “แพทย์แผนโบราณ” มาเป็น “แพทย์แผนไทย” และสำหรับสาขาแพทย์แผนไทยเดิมแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย และการผดุงครรภ์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศเพิ่มประเภทที่ ๔ คือ การนวดไทย เข้าไว้ด้วย

นวดแผนไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานแสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยในการคิดค้นหาวิธีบำบัดรักษาโรค เพื่อให้คนป่วยหาย หรือบรรเทาจากความทุกข์ทรมาน นวดแผนไทยได้มีการสืบทอดต่อกันมาเป็นลำดับ มีการสอนให้เรียนรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นหนึ่ง การนวดจึงเป็นวิทยาทานอันสูงส่งที่ควรอนุรักษ์ให้มีคงอยู่สืบไป

แผนไทยกับการชักะวัติ ก่อนทำการนวดเพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ

ทักษะพิเศษคือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเราจะได้ความชำนาญอย่างหาที่เปรียบมิได้

องค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยและการนวดไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง